![]() |
Flinders Street Railway Station, Melbourne, Australia |
สถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท (Flinders Street Railway Station) เป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางเมืองเมลเบิร์น เป็นศูนย์กลางการเดินทางทั้งหมดของเมืองเมลเบิร์นและรวมถึงรัฐวิคตอเรียทั้งรัฐ จึงทำให้มีชื่อเล่นที่คนไทยในเมลเบิร์นตั้งให้ว่า "หัวลำโพง" ด้วยลักษณะตัวอาคารที่เป็นสีเหลือง ประตูทางเข้าด้านหน้าเป็นรูปโค้งมีบานกระจกดูคล้ายกับสถานีรถไฟหัวลำโพง
![]() |
ด้านหน้าประตูทางเข้าสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท |
อาคารสีเหลืองไข่ไก่ ตั้งตระหง่านอยู่หัวมุมถนนฟลินเดอร์ส (Flinders St.) กับถนนสวอนสตัน (Swanston St.) ด้านหลังติดกับแม่น้ำยาร์ร่า (Yarra River) อันเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นหัวใจของเมืองเมลเบิร์น ถือเป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1854
![]() |
สถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท มองจากฝั่งตรงข้าม |
ตัวอาคารหลักของสถานีฟลินเดอร์ส สตรีท เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Edwardian หรือ นีโอ บารอค โดดเด่นด้วยตัวอาคารสีเหลือง โดมสีเขียวอยู่เหนือตัวอาคาร มีหอนาฬิกา และทางเข้ารูปโค้ง นับเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเมลเบิร์นเลยทีเดียว หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษได้เคยยกย่องให้ ฟลินเดอร์ส สตรีท เรลเวย์ สเตชั่น เป็นสถานีรถไฟที่มีความสวยงามเป็นอันดับที่ 17 ของโลก
![]() |
ภายในสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท |
ด้านในเป็นสถานีรถไฟที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย มีทั้งหมด 13 ชานชลา เชื่อมต่อการเดินทางรถไฟ 15 เส้นทาง และเชื่อมต่อรถรางอีก 14 เส้นทาง เพื่อรองรับผู้คนที่ใช้บริการทางรถไฟมากถึง 7 - 8 หมื่นคนต่อวัน (สถิติจากปี 2019 ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19) และยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านขายยาบริการอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟด้วย
![]() |
ภายในสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท |
![]() |
ร้านอาหารภายในสถานีรถไฟ |
การเดินทางด้วยรถไฟจะใช้บัตรโดยสารที่เรียกว่าไมกี้ หรือ myki card เป็นตั๋วโดยสารแบบเติมเงิน สามารถใช้กับทุกการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะของรัฐวิคตอเรีย (ยกเว้นรถไฟ Vline ซึ่งจะต้องซื้อตั๋วแยกต่างหาก)
มีเรื่องเล่ากันว่าสำนักงานสถาปนิกผู้ออกแบบในกรุงลอนดอน ได้ส่งแบบสลับกัน จริง ๆ แล้ว แบบสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท นี้ เป็นแบบที่ออกแบบมาเพื่อสร้างเป็นสถานีรถไฟบอมเบย์ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ส่วนแบบของสถานีรถไฟบอมเบย์จริง ๆ แล้วคือแบบที่จะนำมาสร้างที่เมลเบิร์น แต่เกิดสลับกันซะงั้น
![]() |
นาฬิกาบอกเวลารถไฟ |
แต่จริง ๆ แล้วสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท มีทางเข้าหลายทาง คือนอกจากทางด้านหน้าตรงมุมถนนฟลินเดอร์สตัดกับถนนสวอนสตันที่เป็นทางเข้ารูปโค้งแล้ว ยังมีทางเข้าทางฝั่งถนนสวอนสตัน (Swanston St.) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจตุรัสเฟดเดอเรชั่น ทางเข้าทางด้านถนนฟลินเดอร์ส (Flinders St.) ซึ่งอยู่ตรงทางแยกต่อกับถนนอลิซเบท (Elizabeth St.) และยังมีทางเชื่อมใต้ดินที่อยู่ด้านหน้าถนนดีเกรฟส์ (Degraves St.) และบริเวณกลางถนนดีเกรฟส์อีกด้วย
![]() |
บริเวณชานชลาสถานีรถไฟฟลินเดอร์ส สตรีท |
นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยบริการรถสาธารณะ ทุกคนน่าจะต้องผ่านสถานีฟลินเดอร์ส สตรีท เพื่อใช้สถานีนี้เป็นจุดตั้งต้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัวหรือไม่ได้มีแผนเดินทางโดยรถไฟ ก็ยังคงต้องแวะมาชมศิลปะความงามของตัวอาคารและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของเมลเบิร์น ไม่งั้นอาจจะเรียกว่าไปไม่ถึงเมลเบิร์นนะเออ
ภาพประกอบเป็นผลงานของผู้เขียน
Writer
เรียนและรักษ์ภาษาไทย ชอบออกไปดู ไปดม ไปชมโลกด้วยความหลงใหลแล้วนำกลับมาเล่า
เจ้าของผลงาน E-Book
ติดตามผลงานอื่น ๆ ได้ที่
สวยงามมากจริง ๆ ค่ะ สักวันจะไปนัดเจอป้าพาหลงที่หัวลำโพงใต้นาฬิกาบ้างค่ะ
ตอบลบยินดีค่ะ รับรองว่าหลงแน่นอน หลงเสน่ห์นะคะ 🤗
ลบ